พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภา ในนามของปวงชนชาวไทย ได้กราบบังคมทูลเชิญขึ้นทรงราชย์ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ โดยทรงมีพระราชดำรัสว่า เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง

 

ลุปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ ทรงพระราชดำริว่า เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติและราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ดังนี้

วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยและสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

ส่วนการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินปลายปีพุทธศักราช ๒๕๖๒

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์แล้ว ตามโบราณราชประเพณีจะทรงตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นพระราชพิธีศักดิ์สิทธิ์สำคัญยิ่ง แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันงดงามและการเทิดทูนสถาบัน
พระมหากษัตริย์ให้ทรงพระเกียรติยศสูงสุดของแผ่นดิน

 

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีหลักฐานปรากฏขั้นตอนลำดับการพระราชพิธีในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งลำดับ ๓ ขั้นตอน ได้แก่ พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีเบื้องกลาง และพระราชพิธีเบื้องปลาย

  • พระราชพิธีเบื้องต้น ประกอบด้วย การเตรียมนํ้าอภิเษกและนํ้าสรงพระมุรธาภิเษก การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร
  • พระราชพิธีเบื้องกลาง และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนการพระราชพิธี การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีสรงพระมุรธาภิเษก พิธีถวายน้ำอภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์
    พระบรมวงศ์ เสด็จออกรับการถวายพระพรชัยมงคล และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เสด็จออกทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล
  • พระราชพิธีเบื้องปลาย ประกอบด้วย พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินปลายปี พุทธศักราช ๒๕๖๒ ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

 

Cr. Phralan.in.th

 

 

 

 

 

Recent Post

icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-598icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-599icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5910icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5911icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5912icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5913icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5914

Sharing

Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmail

Follow Us

Facebooktwitterlinkedinrssyoutube