มลภาวะทางอากาศ มหันตภัยต่อสุขภาพของคนเอเชีย

มลภาวะทางอากาศ มหันตภัยทางสุขภาพของคนเอเชีย

ตั้งแต่กรุงเทพฯ ประเทศไทยไปจนถึงเกาหลีใต้ และอินเดีย มลภาวะทางอากาศกำลังทำให้หลายเมืองใหญ่หายใจไม่สะดวกนัก ทำให้ภาครัฐต้องขยับตัวออกมาตรการหลากหลายเพื่อรับมือกับฝุ่นควัน และป้องกันไม่ให้ฝุ่นตัวร้ายทำลายประชาชน

ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีความพยายามอย่างมากในการสู้รบปรบมือกับมลภาวะทางอากาศ แต่สถานการณ์ดังกล่าวกลับไม่บรรเทาลงเท่าไรนัก เพราะต้องหาความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับรักษาสภาพแวดล้อม

เป็นเวลากว่าสัปดาห์ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้มองเห็นท้องฟ้าสดใส เนื่องจากรถยนต์หนาแน่น งานก่อสร้าง การเผาพื้นที่เกษตร การเดินเครื่องจักรในโรงงาน และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน อากาศนิ่ง ๆ ทำให้ท้องฟ้ากลายเป็นสีเทาทึม มลภาวะตัวร้ายที่สุดคือ PM2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นคัวนขาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งสามารถซึมเข้าไปในปอด ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจและหัวใจ ฝุ่นควันชนิดดังกล่าวได้สูงถึงระดับที่ไม่ปลอดภัยของหลายประเทศ

ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเห็นคนยืนต่อคิวหน้าร้านขายยาระหว่างพักกลางวันเพื่อซื้อหน้ากาก N95 ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันฝุ่นขนาดจิ๋ว แต่หลายร้านก็ต้องติดป้ายว่าไม่มีหน้ากาก N95 จำหน่าย ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งถึงขนาดแจdหน้ากากอนามัยเพื่อดึงดูดลูกค้า

ในขณะที่การเลือกตั้งขยับใกล้เข้ามา รัฐบาลทหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินหน้าเพื่อแก้ปัญหา กองทัพอากาศไทยได้บินเหนือน้านฟ้าเพื่อกระจายน้ำ 3,000 ลิตร โดยหวังว่าจะดูดซับฝุ่นควันและช่วยให้อากาศสะอาดขึ้น รวมถึงการปล่อยอากาศยานเพื่อทำฝนหลวง กองทัพรถดับเพลิงก็กระจายตัวฉีดพ่นน้ำสู่ท้องฟ้า นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ยังพยายามสนับสนุนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเลือกใช้น้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ความพยายามดังกล่าวกลับไม่เป็นผลมากนัก โดย รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า “การพ่นน้ำอาจช่วยลดปริมาณ PM 2.5 แต่เราจะเป็นต้องมีเครื่องจักร 30,000 เครื่อง ฉีดพ่นน้ำในเวลาเดียวกันหากเราต้องการกำจัดฝุ่น PM 2.5”

แต่ประเทศไทย ก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญกับปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศ

ภาพถ่ายโดย Kosaku Mimura

รัฐบาลประเทศเกาหลีใต้ ได้ประกาศเตือนภัยฝุ่นควันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศรวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงโซล หลังจากที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ในบางพื้นที่มีการบันทึกว่ามีฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 200 ไมโครกัรมต่อลูกบาศก์เมตร

กรุงโซลได้ใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับระดับมลภาวะที่เป็นอันตราย กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศห้ามรถบรรทุกดีเซล 320,000 คันไม่ให้เข้าไปในเมือง และแนะนำให้มีการใช้รถโดยสารสาธารณะ รวมถึงขอร้องให้ลดเวลาการทำงานตามพื้นที่ก่อสร้างอีกด้วย

ประเทศอินเดียก็กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน อินเดียเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และสถานการณ์ก็ดูแต่จะมีทีท่าเลวร้ายลงเรื่อยๆ ปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่รายชื่อ 10 เมืองที่มีปัญหามลภาวะรุนแรงที่สุด ซึ่ง 9 ใน 10 นั้นอยู่ในประเทศอินเดีย โดยนิวเดลีอยู่อันดับที่ 6 ปริมาณ PM2.5 ที่พบในเมืองดังกล่าวสูงถึง 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า PM2.5 ที่ระดับ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็นภาวะไม่ปลอดภัย

ภาพถ่ายโดย Kosaku Mimura

เมื่อมลภาวะในเมืองเริ่มรุนแรงขึ้น นักการเมืองท้องถิ่นพูดถึงสถานการณ์ว่าไม่ต่างจากการอยู่อาศัยใน “ห้องรมแก๊ส”

ประเทศในเอเชียใต้ได้ร่างแผนระยะกลางเพื่อรับมือกับมลภาวะทางอากาศดังกล่าว Harsh Vardhan รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าว่าจะลดความเข้มข้นของ PM2.5 และ PM10 ร้อยละ 20 และร้อยละ 30 ตามลำดับภายใน พ.ศ. 2567 โดยใช้ปี พ.ศ. 2560 เป็นปีฐาน

ประเทศจีนเป็นอีกหนึ่งประเทศผู้ประสบปัญหาฝุ่นควัน จากเครือข่ายโรงงานที่มีอยู่ทั่วประเทศซึ่งปล่อยควันพิษออกมาอย่างต่อเนื่อง ภัยร้ายจึงไม่ได้มีผลกระทบเพียงแต่ในเมืองใหญ่ แต่ยังส่งผลกระทบไปยังประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศญี่ปุ่นจากกระแสลมตะวันตกที่พาหมอกควันเหล่านั้นไป

รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศจีนมีมาตรการหลากหลายในการรับมือกับมลภาวะทางอากาศ เช่น การสร้างฝนเทียม ในพ.ศ.2556 และ พ.ศ. 2557 มลภาวะในอากาศสูงถึงระดับ 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในกรุงปักกิ่ง ปัจจุบัน คุณภาพอากาศในปักกิ่งก็ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าอยู่อาศัย แต่ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือราว 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

มลภาวะทางอากาศนับว่าเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ และอาจนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น วัณโรค องค์การอนามัยโลกระบุว่ามลภาวะทางอากาศเป็นภัยคุกคามสำคัญอันดับ 1 ใน พ.ศ. 2562 และประมาณการว่า 9 ใน 10 คนของประชากรโลกกำลังหายใจรับอากาศที่เต็มไปด้วยมลภาวะทุกวัน อากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชาชน 7 ล้านคนต่อปี

สถาบันนโยบายพลังงาน (Energy Policy Institute) มหาวิทยาลัยชิคาโก รายงานว่ามลภาวะทางอากาศได้ลดอายุเฉลี่ยของประชากรโลกลง 1.8 ปี ผลกระทบดังกล่าวนั้นรุนแรงกว่าการสูบบุหรี่ ซึ่งลดอายุเฉลี่ยของประชากรราว 1.6 ปี หรือโรคเอดส์ที่ลดอายุเฉลี่ยของประชากรลง 4 เดือน

“นี่คือการบอกต่อประชาชนและผู้กำหนดนโยบายถึงผลกระทบจากมลภาวะในอากาศต่อชุมชนมนุษย์ และในทางกลับกัน ก็แสดงให้เห็นว่านโยบายที่บรรเทาปัญหาดังกล่าวนั้นมีประโยชน์มากเพียงใด” Michael Greenstone กรรมการของสถาบันให้สัมภาษณ์

มลภาวะทางอากาศกำลังทำร้ายเศรษฐกิจไทย สถาบันวิจัยกสิกรคาดว่าฝุ่นควันอาจส่งผลกระทบถึง 6.6 พันล้านบาท โดยเพิ่มต้นทุนค่ารักษาพยาบาล 3.1 พันล้านบาท และลดมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวลง 3.5 พันล้านบาท ในขณะเดียวกัน การลงทุนในมาตรการป้องกันปัญหามลภาวะทางอากาศอาจจำเป็นต้องใช้เงินที่มีเป้าหมายเพื่อเศรษฐกิจ เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลต้องตัดสินใจระหว่างการลดมลภาวะกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

“เพื่อรับมือกับปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลจะต้องไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ” ดร.กิริฎา เปาพิชิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้คำแนะนำว่าสำหรับกรุงเทพฯ นั้น การสนับสนุนให้ใช้รถยนต์สาธารณะหรือการแบ่งปันรถยนต์เพื่อการเดินทางเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ นอกจากนี้ การติดตั้งเครื่องดักจับมลภาวะในโรงงานอาจเป็นอีกทางออกหนึ่ง เช่นเดียวกับการรณรงค์ให้เกษตรกรไม่เผาไร่หลังจากการเก็บเกี่ยวในพื้นที่ชนบท

“มาตรการเหล่านี้ย่อมมาพร้อมกับต้นทุน โดยอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะสั้น แต่ประเทศก็จะได้รับประโยชน์ในระยะยาว ในทางกลับกัน ต้นทุนด้านการรักษาพยาบาล และประสิทธิผลของแรงงานอาจมีราคาสูง หากรัฐบาลยังไม่จัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะยาว” ดร.กิริฎา กล่าวสรุป

 

Cr. www.seub.or.th

 

 

 

 

Recent Post

icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-598icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-599icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5910icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5911icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5912icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5913icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5914

Sharing

Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmail

Follow Us

Facebooktwitterlinkedinrssyoutube