ล้างจมูก วิธีทำความสะอาดจมูกง่าย ๆ ด้วยตนเอง

ล้างจมูก วิธีทำความสะอาดจมูกง่าย ๆ ด้วยตนเอง

การล้างจมูก เป็นการฉีดหรือเทน้ำเกลือจากรูจมูกข้างหนึ่งให้ไหลผ่านโพรงจมูกแล้วไปออกรูจมูกอีกข้างหนึ่ง โดยการล้างด้วยน้ำเกลือนี้จะช่วยลดอาการคัดจมูกจากน้ำมูกหรือระคายเคืองจากสารก่อภูมิแพ้ทั้งหลาย และเป็นวิธีที่มีการยืนยันแล้วว่าใช้ได้ผลจริง

 

การล้างจมูกช่วยอะไรได้บ้าง
ในจมูกคนเรามีโครงสร้างลักษณะเป็นขนขนาดเล็กที่เรียกว่าซีเลีย (Cilia) อยู่ภายในจมูกและโพรงจมูก คอยพัดเอาน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งไปที่หลังคอให้ถูกกลืนลงไปหรือไม่ก็พัดให้ออกไปจากจมูก การใช้น้ำเกลือช่วยล้างจะมีประโยชน์ในการช่วยกำจัดแบคทีเรีย ไวรัส และสารก่อความระคายเคืองทั้งหลายให้หลุดออกไปรวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยในกรณีที่ซีเลียไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามปกติเนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกบวม

นอกจากนี้ น้ำเกลือจะไปเพิ่มความชุ่มชื้นและลดการอักเสบของโพรงจมูกให้มีอาการบวมน้อยลง และกลับมาหายใจได้เป็นปกติดังเดิม ทั้งยังช่วยชะล้างน้ำมูกให้น้อยลงอีกด้วย การล้างจมูกจึงสามารถนำมาใช้กับผู้ที่มีภาวะต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ
  • ผู้ป่วยภูมิแพ้
  • ผู้ที่มีอาการคัดจมูกจากโรคหวัด
  • ให้ความชุ่มชื้นแก่โพรงจมูกที่แห้งจากการอยู่ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ

 

ข้อควรระวังในการล้างจมูก
การล้างจมูกสามารถทำได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่ไม่ควรนำมาใช้กับทารกที่อายุยังน้อย และควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าจะปลอดภัยหรือสามารถบรรเทาอาการที่เป็นหรือไม่ หากทำแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม แนะนำให้กลับไปสอบถามแพทย์ ยิ่งในกรณีที่มีอาการไข้ ปวดศีรษะหรือมีเลือดกำเดาไหลตามมา

ทั้งนี้ผู้ที่เกิดการติดเชื้อบริเวณหูหรือโพรงจมูกที่มีอาการแน่นจมูกและหายใจลำบากไม่ควรใช้วิธีนี้ และยังต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้เป็นอย่างมาก ไม่เช่นนั้นจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะหากเป็นผู้มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานไม่ปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้วิธีนี้

 

ล้างจมูกมีวิธีการอย่างไร

ขั้นเตรียมการ

  • เตรียมอุปกรณ์สำหรับใส่น้ำเกลือล้างจมูก การล้างจมูกในแต่ละครั้งจะต้องใช้ภาชนะที่สามารถฉีดหรือเทน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกได้อย่างสะดวก โดยอาจหาซื้ออุปกรณ์สำเร็จรูปสำหรับล้างจมูกที่มีน้ำเกลือภายในพร้อม หรือใช้ลูกสูบยางแดง กระบอกฉีดยา หรืออุปกรณ์คล้ายกาน้ำสำหรับการล้างจมูกโดยเฉพาะก็ได้
  • เตรียมสารละลายน้ำเกลือ (ในกรณีที่เตรียมเอง) ผงสารละลายสำหรับทำน้ำเกลือนั้นสามารถหาซื้อได้ทั่วไป และควรเป็นผงเกลือที่ปราศจากไอโอดีนหรือเกลือแกง เมื่อได้แล้วก็ทำตามขั้นตอนแนะนำบนฉลาก โดยส่วนประกอบมักจะใช้น้ำอุ่น 2 แก้ว ผสมกับเกลือ 1/4 - 1/2 ช้อนชา อาจเพิ่มเบกกิ้งโซดาสักหยิบมือเล็ก ๆ ช่วยให้ฤทธิ์ของเกลือเบาลง ทั้งนี้น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาดผ่านการกลั่นหรือต้มมาก่อน อยู่ในภาชนะปิดที่สะอาดและปลอดภัย และหากเป็นน้ำเกลือที่เตรียมเองก็ควรใช้ภายใน 1 วันเท่านั้น ที่เหลือให้ทิ้งไปเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ขั้นตอนการล้างจมูก

  • อยู่ในท่าเตรียมพร้อมโดยโน้มตัวเข้าหาอ่างล้างหน้าทำมุมประมาณ 45 องศา แล้วเอียงศีรษะตะแคงให้รูจมูกข้างหนึ่งอยู่ในบริเวณอ่าง เพื่อน้ำเกลือจะได้ไหลออกไปยังอ่างล้างหน้า ป้องกันน้ำเกลือย้อนไหลลงคอหรือหลอดลม
  • เทหรือฉีดสารละลายน้ำเกลือประมาณ 10-15 มิลลิลิตร ในผู้ใหญ่ หรือประมาณ 5 มิลลิลิตร ในเด็ก โดยจ่อปลายของอุปกรณ์ฉีดเข้าไปในรูจมูกข้างที่อยู่ด้านบนประมาณ 1 เซนติเมตร ขณะนี้ให้อ้าปากไว้เพื่อหายใจทางปากแทนจมูก จากนั้นจึงบีบหรือเทน้ำเกลือให้ไหลผ่านโพรงจมูกจนออกมาจากรูจมูกอีกข้างหนึ่งหรืออาจไหลออกมาปาก ซึ่งในกรณีนี้ควรบ้วนน้ำเกลือทิ้ง ไม่ควรกลืนลงคอ
  • คอยเอียงศรีษะอยู่ในระดับ 45 องศาอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ล้าง อย่าเผลอยกตัวกลับ แหงนหน้า หรือหายใจทางจมูก เพราะจะทำให้ให้เกิดการสำลักน้ำเกลือได้
  • เสร็จแล้วค่อย ๆ สั่งน้ำมูกเบา ๆ เพื่อให้น้ำเกลือที่เหลือไหลออกมาให้หมด แล้วทำขั้นตอนเดียวกันใหม่กับรูจมูกอีกข้างหนึ่ง เมื่อเรียบร้อยแล้วให้ทิ้งสารละลายน้ำเกลือที่เหลือในภาชนะ ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่
  • ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ทั้งหมด ตากให้แห้ง และเก็บไว้ในที่ที่สะอาดและปราศจากความชื้น

 

ผลลัพธ์หลังจากการล้างจมูก
การล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลืออาจเห็นผลได้ใน 1-2 ครั้งหลังจากเริ่มทำ และหากทำไปนาน ๆ ก็จะยิ่งเห็นผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยบางคนอาจล้างทุกวันเพื่อไม่ให้มีอาการระคายเคืองเกิดขึ้น แต่หากสังเกตเห็นว่าอาการที่เป็นอยู่ดีขึ้นแล้วก็อาจลดลงเหลือเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

 

การล้างจมูกมีผลข้างเคียงหรือไม่
การล้างจมูกนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็มีโอกาสทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้เช่นกัน ได้แก่ ความรู้สึกระคายเคือง มีอาการแสบหลังล้าง หรือมีเลือดกำเดาไหล แต่ข้อหลังนั้นพบได้น้อย ซึ่งผู้ที่เกิดอาการเหล่านี้ควรลดปริมาณเกลือที่ใช้ผสมให้น้อยลง ลดความถี่ในการล้างจมูกลง และปรับอุณหภูมิน้ำที่ใช้ให้เหมาะสม ไม่ให้ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ก็อาจช่วยให้ผลข้างเคียงลดน้อยลงได้ แต่หากอาการดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือพบปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ มีเลือดกำเดาไหล เป็นไข้ ปวดศีรษะตามมา ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ

 

 

Cr. pobpad

 

 

 

 

Recent Post

icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-598icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-599icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5910icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5911icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5912icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5913icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5914

Sharing

Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmail

Follow Us

Facebooktwitterlinkedinrssyoutube