วิ่งอย่างไร เลิกเสร็จได้กลับบ้านแน่ ๆ

วิ่งอย่างไร เลิกเสร็จได้กลับบ้านแน่

ข่าวคราวการเสียชีวิตของนักวิ่งจากการเข้าร่วมแข่งขันวิ่งมาราธอน ซึ่งล่าสุดใน 1 อีเวนต์ มีนักวิ่งเสียชีวิตทั้งขณะวิ่ง และภายหลังวิ่งเข้าเส้นชัยแล้ว ไม่นับรวมกีฬาประเภทอื่น เช่น แบดมินตัน ถ้าใครอยู่ในวงการจะเห็นข่าวคราวการเสียชีวิตระหว่างการเล่น ติดต่อกันหลายอาทิตย์ ทั้งนักกีฬาสมัครเล่นและนักกีฬาอาชีพ ทำให้เป็นที่กล่าวขวัญในหมู่นักกีฬา ถึงความปลอดภัย และทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าภายหลังเล่นหรือแข่งเสร็จแล้วจะไม่ตายหรือปลอดภัยได้กลับบ้านไปหาครอบครัวแน่ ๆ

อัตราการเสียชีวิตจากการออกกำลังกาย ทั่วโลกอยู่ที่ 1: 80,000 – 200,000 โดยการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะมาจากโรคแฝง ที่นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่รู้ หรือรู้และอยู่ในระหว่างการรักษาหรือการควบคุมโอกาสที่จะเสียชีวิตในคนที่แข็งแรงไม่มีโรคแฝงจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาโดยตรงนั้น มีโอกาสเกิดน้อยกว่า

สาเหตุการเสียชีวิตจากการเล่นกีฬา
สำหรับการเสียชีวิต ซึ่งเกิดในระหว่างการแข่งขันกีฬา เช่น การวิ่ง การเตะฟุตบอล การเล่นแบดมินตัน โดยเฉพาะในการวิ่งระยะไกล ๆ นั้น มักจะมาจากโรคแฝงที่เกี่ยวกับหัวใจเป็นหลัก โดยมีโอกาสเกิดสูงในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น
ไขมันสูง ความดันสูง มีเบาหวาน สูบบุหรี่ อ้วน เป็นต้น เมื่อต้องออกกำลังกายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยเฉพาะเมื่อนานเกิน 1-2 ชม. อยู่ในภาวะที่ร้อนจัดหรือความชื้นสูง หรือเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะไม่พร้อม เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึกก่อนแข่ง มีภาวะเจ็บป่วยเช่นเป็นไข้หวัดหรือท้องเสียอยู่ก่อน หากมีภาวะเหล่านี้จะมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตระหว่างการเล่นกีฬาสูงขึ้น

สาเหตุหลัก ๆ ของการเสียชีวิตจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายหนัก มักจะเกิดจากการที่มีลิ่มเลือด หรือก้อนไขมันที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ (atherosclerotic plaque) หลุดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวายหรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้ โดยที่อาจไม่มีอาการเตือนนำมาก่อน เพราะภาวะนี้ (atherosclerosis) อาจไม่มีอาการในขณะที่ดำเนินชีวิตปกติ และนอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีโดยทั่วไป เช่น การตรวจเลือด เอกซเรย์ทรวงอก หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram, ECG) อาจไม่พบความผิดปกติได้ ทำให้ผู้เล่นกีฬาส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อนว่ามีโรคแฝงอยู่ สำหรับนักกีฬาที่อายุน้อยกว่า 40 ยังอาจเสียชีวิตจากโรคหัวใจผิดปกติอื่น ๆ ได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจโตผิดปกติ หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

นอกจากการเสียชีวิตจากโรคแฝงที่เกี่ยวกับโรคหัวใจแล้ว ยังมีโรคลมร้อน (Heat stroke) อีกโรคหนึ่งที่อาจทำให้นักกีฬาเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน โดยจะมีความเสี่ยงสูงในกลุ่มผู้ที่ปกติไม่ค่อยออกกำลังกายแล้วไปออกกำลังกายหักโหม หรือไปวิ่งเป็นเวลานานทันที ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรับประทานยาแก้หวัดลดน้ำมูกบางชนิด ที่อาจส่งผลต่อการขับเหงื่อและขับความร้อนออกจากร่างกายได้น้อยลง

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การออกกำลังกายในพื้นที่มีความร้อนและความชื้นสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไปเป็นต้น


อาการเตือนที่ต้องสังเกต ในระหว่างเล่นกีฬา
ทั้งนี้ผู้เล่นกีฬาควรต้องสังเกต อาการเตือนที่สำคัญ ๆ ในระหว่างเล่นกีฬา โดยถ้ามีอาการอย่าฝืน หรือพยายามเล่นต่อเด็ดขาด อาการดังกล่าว ได้แก่ 1. การเจ็บแน่นหน้าอก โดยอาจลามไปจนถึงช่วงแขน คอ กราม ใบหน้าหรือช่องท้อง และ 2. เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม หรือเหงื่อแตกใจสั่น หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบบอกเพื่อน ผู้เล่น กรรมการเพื่อส่งให้หน่วยพยาบาลปฐมพยาบาล หรือไปโรงพยาบาลทันที หากไม่มีหน่วยช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ ใหโทรศัพท์ไปที่เบอร์สายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

ตารางที่ 1 แสดง ถึง Target heart rate zone ที่แนะนำให้ออกกำลังกาย และ maximum heart rate แบ่งตามอายุ

 

ข้อแนะนำในการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิต ในขณะเล่นกีฬา

  1. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตรวจร่างกายตามระดับความเสี่ยง เช่น อายุมาก มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้ออาจต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เอคโค่หัวใจ (echocardiogram) การวิ่งสายพาน (exercise stress test, EST) หรือการตรวจอื่น ๆ ที่เหมาะสมสำหรับผู้เล่นกีฬาแต่ละราย ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดและค่าใช้จ่ายในการตรวจจากโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยภายหลังการตรวจ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด
  2. ควรมีการฝึกซ้อมก่อนแข่งอย่างเพียงพอ โดยมีรูปแบบการฝึกทั้งแบบ interval หนักสลับเบา แบบ tempo หนักต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความทนทาน การฝึกเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น เป็นต้น ที่สำคัญต้องค่อย ๆ เพิ่มระดับความหนักอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบเร่ง มีวันพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้มีการปรับตัว
  3. ถึงวันแข่งหรือวันเล่นกีฬา ให้เล่นหนักเหมือนกับที่ซ้อมมา หรืออาจเล่นหนักมากขึ้นได้อีกเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายคุ้นเคยกับระดับความหนักของการเล่นระดับนี้มาแล้ว อันตรายมากหากซ้อมน้อย แต่ไปมุ่งมั่นเอาจริง เอาจัง เฉพาะตอนแข่ง ซึ่งหัวใจจะทำงานหนักเกินขีดจำกัด และมีความเสี่ยงสูงอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจนเสียชีวิตได้
  4. สำหรับการวิ่ง นักวิ่งควรมีการคุมชีพจรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่แช่อยู่ใน HR zone สูง ๆ เป็นเวลานาน (ดูตารางที่ 1) ควรดื่มน้ำ เติมเกลือแร่ทุกครั้งที่วิ่งเมื่อถึงจุดที่ผู้จัดเตรียมไว้ นอกจากนี้ควรสอบถามผู้จัดการแข่งขันถึงรายละเอียดด้านการปฐมพยาบาลที่ผู้จัดเตรียมไว้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้แก้สถานการณ์ได้ทันท่วงที
  5. หากพบอาการเตือน เช่น แน่นหน้าอก เวียนหัว หน้ามืดจะเป็นลม อย่าฝืนเล่นหรือวิ่งต่อ ให้หยุดพัก แจ้งหน่วยพยาบาลของการแข่งขัน ตามช่องทางที่ผู้จัดเตรียมไว้ทันที
  6. นอกจากนี้ควรหาเวลาเข้าอบรมการทำ CPR หรือการปั้มหัวใจ เผื่อมีโอกาสในการช่วยผู้เล่นกีฬาคนอื่น ๆ ได้ ถึงตอนนี้แล้ว เพื่อนๆคงมั่นใจมากขึ้นว่า นอกจากความสนุกที่ได้จาการเล่นกีฬาแล้ว การใส่ใจในรายละเอียดทางด้านสุขภาพให้มากขึ้น จะทำให้ทุกคนปลอดภัย กลับไปหาคนที่คุณรักได้อย่างแน่นอน

 

Cr. Health2click

 

 

 

 

Recent Post

icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-598icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-599icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5910icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5911icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5912icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5913icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5914

Sharing

Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmail

Follow Us

Facebooktwitterlinkedinrssyoutube