เมืองกรุงมลพิษสะสม บั่นทอนระบบหายใจ
กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังเผชิญกับสภาพอากาศเป็นมลพิษสะสมในเมืองเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยมีสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ มีปริมาณที่สูงผิดปกติ ขณะเดียวกัน จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561 พบว่า แหล่งกำเนิดหลักจากการเผาไหม้ของรถเครื่องยนต์ดีเซล การเผาในที่โล่ง มีการส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เนื่องจากฝุ่นละอองสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนลึกสุดได้ และจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและอักเสบในระบบทางเดินหายใจ
จากสภาพอากาศที่มีมลพิษสะสม ทำให้ประชาชนกำลังเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี สะท้อนได้จากข้อมูลศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. พบว่าพื้นที่ กทม.มีผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจกว่า 2.3 แสนคน เพราะต้องดำรงชีวิตอยู่กับสภาพการจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน
สำหรับพื้นที่ กทม. ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ ได้แก่ เขตดินแดง ลาดพร้าว ป้อมปราบศัตรูพ่าย พญาไท และปทุมวัน ส่วนใหญ่เกิดจากการจราจรที่หนาแน่น ขณะที่พื้นที่รอบนอกกทม. มลพิษเกิดขึ้นเป็นบางช่วงและเกิดจากการเผาวัสดุทางการเกษตรในที่โล่ง
เตือนประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคระบบทางหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ภายนอกอาคารบริเวณถนนที่มีมลพิษสูงเป็นเวลานาน ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเข้าไปในเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัด อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศ ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่อย่างแท้จริง จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ใช้รถจักรยานหรือเดินเพิ่มขึ้น เพื่อลดปริมาณรถยนต์ในท้องถนน ลดการใช้น้ำมันส่งผลถึงการลดปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะยกระดับคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น
Cr. Posttoday
ภาพประกอบจาก สสส.