6 โรคหน้าฝน ที่ไม่รัก

6 โรคหน้าฝน ที่ไม่รัก

ฝนที่ตกลงมาให้ได้ชุ่มฉ่ำกัน หลังจากหน้าร้อนที่ผ่านมา คงทำให้ใครหลายคนทั้งชอบใจ ทั้งหงุดหงิด เพราะถึงจะเย็นสดชื่น แต่ก็ทำให้รถติดมากขึ้นกว่าเดิม แถมยังชื้นแฉะ และพาโรคต่าง ๆ มาให้อีกด้วย เพราะฉะนั้น หากไม่อยากเป็น โรคหน้าฝน ที่เอามาบอกกันในวันนี้แล้วละก็ อย่าลืมดูแลร่างกาย และรักษาสุขภาพกันเสียแต่เนิ่น ๆ ด้วย

6 โรคหน้าฝน ที่ต้องเฝ้าระวัง!

1. โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อยู่ในปัสสาวะของหนูหรือสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว โค กระบือ และสัตว์ฟันแทะทั้งหลายเป็นพาหะ โดยเชื้อเหล่านี้จะปะปนอยู่ในน้ำที่ท่วมขัง หากสัมผัสถูกเชื้อ จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา และเยื่อบุในช่องปากได้อย่างง่ายดาย

อาการที่พบได้บ่อย หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 อาทิตย์ จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง และโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง คอแข็ง มีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับไข้ลด ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง จนกระทั่งตับวาย ไตวาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

การดูแลรักษา สำหรับผู้ที่มีไข้ไม่สูงมาก ควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และกินยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล แต่ห้ามใช้แอสไพรินเด็ดขาด หากต้องเดินย่ำน้ำท่วม หรือน้ำสกปรก ควรสวมใส่รองเท้าบูทให้เรียบร้อย ต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง และเช็ดเท้าให้แห้ง หากมีประวัติหรือมีอาการเสี่ยง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้

 

2. โรคเยื่อตาอักเสบ หรือตาแดง (conjunctivitis)
เกิดจากเชื้อไวรัส ที่อยู่ในน้ำตา และขี้ตา ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้ของร่วมกัน และยังอาจเกิดได้จาก การใช้น้ำไม่สะอาดล้างหน้า อาบน้ำ ถูกน้ำสกปรกที่มีเชื้อโรคกระเด็นเข้าตา หรือใช้มือ แขน และเสื้อผ้าที่สกปรก ขยี้ตา

อาการที่พบได้บ่อย แผ่นเยื่อที่คลุมส่วนตาขาว จะผลิตเมือกเพื่อเคลือบ และหล่อเลี้ยงผิวของดวงตา ทำให้เกิดการระคายเคือง เส้นเลือดบวม และทำให้ตาค่อย ๆ แดงขึ้น หรือมีอาการอักเสบ เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลดลง จะมีอาการอยู่ราว 1-2 สัปดาห์

การดูแลรักษา หากมีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทุกครั้ง และทันที อย่าใช้มือ แขน หรือผ้าที่ไม่สะอาดขยี้ตา หรือเช็ดตา อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่เป็นโรคตาแดง หรือเยื่อตาอักเสบ

 

3. โรคที่ติดต่อทางน้ำ และทางอาหาร
ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ และตับอักเสบ เป็นต้น เกิดจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำ ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพ ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ รวมทั้งการกินอาหารสุกๆดิบๆ หรือใช้น้ำที่ไม่สะอาดมาประกอบอาหาร

อาการที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ ปวดบิดในท้อง หากติดเชื้อบิด อาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้ ผู้ที่มีอาการตับอักเสบจะ มีไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียน

การดูแลรักษา ระมัดระวังเรื่องอาหารที่กินเข้าไป กินแต่อาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด และใช้ช้อนกลาง ไม่กินอาหารที่ปรุงค้างไว้นานเกิน 6 ชั่วโมง เนื่องจากอากาศสภาพอากาศที่ร้อนชื้น เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

 

4. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
โรคหน้าฝน กลุ่มติดเชื้อทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม มักเกิดจากการที่ร่างกายอ่อนแอ เพราะอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง จนติดเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศ หรือในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จาม ออกมา

อาการที่พบได้บ่อย หาก มีไข้ ไอ หายใจเร็ว หรือหอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

การดูแลรักษา สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปากและจมูก เมื่อ ไอ จาม หมั่นลางมือบ่อยๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจไปสัมผัสมา หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

 

5. โรคไข้เลือดออก
เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็น พาหนะนำโรค หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัดประมาณ 5-8 วัน

อาการที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง (38.5-41 องศาเซลเซียส) ติดต่อกัน 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน จากนั้นจะมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว

ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง หลังจากไข้ลดลง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อกหลังไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการซึม กระสับกระส่าย กระหาย เหงื่อออก ตัวเย็น ปากเขียว ชีพจรเบาเร็ว อาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง

การดูแลรักษา เมื่อมีอาการไข้ขึ้นสูง ห้ามกินยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ให้หมั่นเช็ดตัวและดื่มน้ำเพื่อลดไข้ สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากไข้ไม่ลด ควรควรรีบไปพบแพทย์

 

6. โรคน้ำกัดเท้า
เกิดจากเชื้อรา มักมีสาเหตุจาก ต้องลุยน้ำสกปรกนานๆ เนื่องจากการทำงาน หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง และต้องลุยน้ำช่วงฤดูฝน

อาการที่พบได้บ่อย ผิวหนังตรงส่วนซอกนิ้วเท้าแดง ขอบนูนเป็นวงกลม คัน เมื่อเกาแผลจะแตก และมีน้ำเหลืองเยิ้มออกมา

การดูแลรักษา หลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำขัง หรือน้ำท่วมสูง แต่หากจำเป็น ควรต้องหารองเท้าบูทมาใส่ และรีบล้างเท้าและเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้ง หากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน ซอกนิ้วเท้าแดง มีขอบนูน หรือมีบาดแผล ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการดังกล่าว ก่อนจะลุกลามจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน

 

โรคหน้าฝน ที่มากับสายฝนเย็นฉ่ำนี้ มักเป็นโรคติดต่อ ที่แพร่กระจายไปสู่คนรอบข้างได้ ดังนั้น นอกจากดูแลตัวเองให้ดี ไม่ให้ป่วยด้วย โรคหน้าฝน แล้ว ก็อย่าลืมดูแลคนรอบข้าง ไม่ให้เป็นโรคติดต่อหน้าฝนที่กล่าวไปด้วยล่ะ

 

Cr. www.gedgoodlife.com

 

Recent Post

icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-598icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-599icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5910icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5911icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5912icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5913icon-%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b9%87%e0%b8%9a-aqua-maris-05-9-5914

Sharing

Facebooktwitterredditpinterestlinkedinmail

Follow Us

Facebooktwitterlinkedinrssyoutube